tidreviews

tidreviews

“คมนาคม” หาแนวทางช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

“คมนาคม” หารือร่วมกับผู้ประกอบการขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีโอกาสเข้าถึงระบบการขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ส่งเสริมสนับสนุนการใช้รถโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้า ลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รองรับการเดินทางของคนทั้งมวล

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของผู้ประกอบการขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ให้สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และผู้เกี่ยวข้องร่วมหารือ โดยในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสาร 123 เส้นทาง และผู้ประกอบการเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา 3 เส้นทาง ซึ่งเป็นเครือข่ายที่รองรับผู้โดยสารมากกว่า 1 ล้านคนต่อวัน อาทิ บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด, บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด, บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด, บริษัท สันติมิตรขนส่ง จำกัด, บริษัท บี.บี.ริช (ประเทศไทย)​ จำกัด, บริษัท เศวกฉัตร จำกัด, บริษัท ต.มานิตย์ จำกัด, บริษัท อำไพรุ่งโรจน์ จำกัด, บริษัท ชัยกรการเดินรถ จำกัด และบริษัท เจริญบัส จำกัด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ประกอบการขนส่ง ทั้งความต้องการการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างรัฐ, รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เพื่อพัฒนาระบบคมนาคมให้เป็นเครือข่ายเดียวกันโดยสมบูรณ์ ผลักดันนโยบายในการใช้รถเมล์ปรับอากาศไฟฟ้า แทนการใช้รถดีเซล เพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม นั้น ค่อนข้างสอดคล้องและเป็นไปตามแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 เห็นชอบการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 เรื่อง นโยบายการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดความชัดเจนในบทบาท Regulator และ Operator ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้ส่งเสริม สนับสนุนและขับเคลื่อนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบ Smart Bus และให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง รับทราบมติของคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการตามแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อไป กรมการขนส่งทางบกจึงได้ประกาศรับคำขอเป็นการทั่วไปในการขออนุญาตประกอบการขนส่งเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง หมวด 1 ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง จำนวน 77 เส้นทาง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารในการเดินทางด้วยรถที่ใช้พลังงานสะอาด ลดฝุ่นละออง PM 2.5 รองรับ Wheel Chair สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ รวมทั้งการพัฒนารูปแบบบริการโดยใช้นวัตกรรม เช่น E-Ticket System, AI มีแผนดำเนินการที่ชัดเจนในการรองรับการใช้ระบบตั๋วต่อ ตั๋วร่วม ของกระทรวงคมนาคมบัตรโดยสารใบเดียวสามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้ทุกโหมด ภายใต้แนวคิด Single Network / Single Price / Single Management สามารถเชื่อมต่อผู้ประกอบการรายอื่น / การขนส่งรูปแบบอื่นได้ โดยให้คำนึงถึงผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสเข้าถึงระบบการขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการขนส่งจะขอรับการสนับสนุนในเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนสอนขับรถขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการแรงงานขับรถที่มีทักษะสูง ต้องคำนึงถึงการยกระดับคนขับรถที่มีคุณภาพและมีจิตสำนึกที่ดีมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการปฏิบัติหน้าที่ขับรถให้บริการประชาชนซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ควบคู่กัน เพื่อยกระดับการให้บริการขนส่งสาธารณะในทุกมิติ ทั้งด้านการอำนวยความสะดวกและปลอดภัยของประชาชนในการเดินทาง ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอของผู้ประกอบการขนส่งไปพิจารณาความเหมาะสมต่อไป

อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy